ปัญหาการนอนหลับและกัญชา: การใช้กัญชาเป็นประจำ มีส่วนรบกวนการนอนหลับได้อย่างไร
Table of Contents
การนอนหลับมีความสำคัญต่อสุขภาพ แต่บางครั้งการนอนหลับก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หลายคนหันไปพึ่งกัญชา ซึ่งอาจจะช่วยให้นอนหลับได้ทันที, นอนหลับเร็วขึ้น และปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับได้
แต่ในระยะยาว นี่อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดที่จะจัดการกับปัญหาการนอนไม่หลับนี้ เพราะการใช้กัญชาเป็นประจำโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ อาจมีผลรบกวนการนอนหลับของคุณได้เช่นกัน
บทความนี้เราจะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น หากใช้กัญชาเป็นประจำเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของการนอนหลับ พร้อมวิธีการป้องกันอาการเหล่านี้
กัญชาทำให้เกิดปัญหาต่อการนอนหลับอย่างไร?
การใช้กัญชาเป็นประจำจะทำให้ร่างกายมีความทนทานต่อสารในกัญชามากขึ้น จนไปรบกวนการนอนหลับช่วง REM ได้ ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณการใช้กัญชาขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการในแบบเดิม ต้องการให้ฝันน้อยลง ไปจนถึงมันสามารถเปลี่ยนแปลงวงจรการนอนหลับได้เลยทีเดียว
มาเริ่มเจาะลึกปัญหาเหล่านี้กันดีกว่า
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการนอนหลับ
การนอนหลับไม่ใช่แค่การตื่นหรือหลับเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับวงจรหลายขั้นตอน เช่น การหลับตื้น, การหลับลึก และการหลับฝัน ซึ่งเรียกวงจรนี้ว่า Sleep Architecture (โครงสร้างการนอนหลับ)
โครงสร้างการนอนหลับโดยส่วนใหญ่แบ่งการนอนหลับเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ระยะการหลับที่ไม่มีการกรอกตาแบบรวดเร็ว (NREM) และระยะการหลับที่มีการกรอกตาแบบรวดเร็ว (REM) และ NREM ยังแบ่งย่อยอีก 3 ขั้นตอน ดังนี้:
- ระยะที่ 1: เป็นระยะหลับตื้นแบบกึ่งหลับกึ่งตื่น ที่เราสามารถหลับและตื่นได้ง่าย โดยอาจไม่รู้สึกเหมือนว่าเรายังไม่ได้นอน
- ระยะที่ 2: ระยะนี้ร่างกายจะตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวน้อยลง เนื่องจากอุณหภูมิร่างกายจะลดลง และอัตราการเต้นของหัวใจจะช้าลง ซึ่งยังถือว่าเป็นระยะหลับตื้นที่เข้าใกล้ระยะหลับลึกมากขึ้น
- ระยะที่ 3: ระยะหลับลึก เป็นช่วงที่ร่างกายซ่อมแซมกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อ, กระตุ้นการเจริญเติบโต, กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และสร้างพลังงานสำหรับวันถัดไป
หลังจากระยะหลับลึก เราจะเข้าสู่การนอนหลับระยะ REM ซึ่งเป็นช่วงที่ความฝันส่วนใหญ่มักเกิดขึ้น
การใช้กัญชาอย่างต่อเนื่อง สามารถขัดขวางโครงสร้างการนอนหลับที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีได้ ซึ่งส่งผลให้มีเวลาหลับลึกน้อยลง และหลับตื้นมากขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คุณอาจไม่ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
นี่จึงเป็นเหตุที่ว่า ทำไมเวลาที่ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกไม่สดชื่น แต่กลับรู้สึกมึนและเหนื่อยล้า โดยเฉพาะหากเพิ่งใช้กัญชาก่อนที่จะเข้านอน นอกจากนี้ อาจรู้สึกเหนื่อยล้าในเวลากลางวัน, อารมณ์เปลี่ยนแปลง และรู้สึกขี้เกียจหรือเชื่องช้าร่วมด้วย
การนอนหลับ REM ลดลง และฝันน้อยลง
ความฝันส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในช่วงการนอนหลับระยะ REM
ขั้นตอนนี้จำเป็นสำหรับสมอง เพื่อพักผ่อนและประมวลผลสิ่งที่เราเรียนรู้ระหว่างวัน การนอนหลับช่วง REM ยังมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพและการทำงานของสมอง ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจอารมณ์, เก็บความทรงจำ และเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา
แต่การใช้กัญชาสามารถลดช่วงเวลาหลับฝันได้ เมื่อใช้ไปสักระยะ ความฝันของเราก็จะน้อยลง
เนื่องจากการนอนหลับระยะ REM ถือเป็นกุญแจสำคัญในการเรียนรู้และความทรงจำ การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ จึงอาจทำให้คุณจดจำข้อมูลหรือเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ได้ยากขึ้น นอกจากนี้ การนอนหลับในระยะ REM ที่ลดลงยังหมายความว่า สมองอาจต้องการการพักผ่อนที่มากขึ้น เพื่อให้การทำงานมีผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ดังนั้น การนอนหลับระยะ REM ที่ไม่เพียงพอ จึงมีผลทำให้คุณขาดสติ, ขาดสมาธิ และขาดประสิทธิภาพได้
ผลกระทบต่อนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythms)
นาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythms) ถือเป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่ควบคุมวงจรการหลับ-ตื่น และเกิดซ้ำทุก ๆ 24 ชั่วโมง
สิ่งนี้เปรียบเสมือนนาฬิกาภายในร่างกาย ที่บอกให้เรารู้ว่าควรตื่นและนอนเมื่อใด โดยทำงานร่วมกับแสงแดดและความมืด เพื่อให้วงจรการนอนหลับและการตื่นของเราเป็นปกติ แต่เมื่อคุณใช้กัญชา โดยเฉพาะช่วงใกล้เวลาเข้านอน มันอาจทำให้นาฬิกาชีวภาพแปรปรวนได้ และงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การใช้กัญชาสามารถเปลี่ยนนาฬิกาชีวภาพได้
กัญชาอาจทำให้ง่วงนอน แม้ว่าจะยังไม่ใช่เวลานอนก็ตาม หากคุณจำนนต่อความง่วง อาจทำให้นอนหลับเร็วกว่าปกติ และตื่นเช้าหรือตื่นสายกว่าที่เคยเป็น เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ เข้า วงจรการนอนหลับและการตื่นจะเริ่มรวน ทำให้รู้สึกเหนื่อยง่ายในตอนกลางวัน นอนหลับไม่ดีในตอนกลางคืน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบการนอนที่ผิดปกติได้
สิ่งเดียวกันนี้ยังได้รับการตรวจสอบในการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Regional Anesthesia & Pain Medicine ที่ระบุว่า กัญชามีความเกี่ยวข้องกับการนอนที่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง หรือมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อคืน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาการนอนหลับที่เหมาะสม สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า กัญชาอาจรบกวนนาฬิกาชีวิตตามธรรมชาติ และการศึกษายังพบว่า ผู้ใช้กัญชามีแนวโน้มที่จะมีปัญหาการนอนหลับมากขึ้น เช่น การเผลหลับไป หรือการหลับยาวตลอดคืน
สร้างความทนทาน
ลองนึกถึงครั้งแรกที่ได้ดื่มกาแฟหรือชาเข้มข้นสักแก้ว อาจทำให้เรารู้สึกตื่นตัวเป็นอย่างมาก แต่ผลกระทบที่รุนแรงนั้นจะค่อย ๆ หายไปอย่างช้า ๆ หากเริ่มดื่มมันวันละแก้ว สิ่งนี้เรียกว่า การสร้างความทนทาน และเกิดขึ้นเช่นกันในกัญชา
ในช่วงแรก กัญชาอาจช่วยให้คุณนอนหลับได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป คุณอาจต้องการใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้ผลเช่นเดียวกันกับตอนแรก นี่คือเหตุผลว่า ทำไมการใช้กัญชาในระยะยาว จึงเชื่อมโยงกับการนอนหลับที่ลดลง เพราะร่างกายจะคุ้นชินกับการเผาผลาญกัญชา และยิ่งใช้กัญชามากเท่าไร ก็จะยิ่งรบกวนการนอนได้มากขึ้นเท่านั้น
การเสพติดและการถอน
เมื่อเราทำกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกดี สมองของเราจะจดจำและต้องการทำซ้ำ นี่คือพื้นฐานของการเสพติด ซึ่งการใช้กัญชาเป็นเวลานานสามารถนำไปสู่สถานการณ์ที่คล้ายกันได้
ในช่วงแรก คุณอาจใช้กัญชาเพื่อผ่อนคลายหรือช่วยในการนอนหลับ ซึ่งมันก็ทำงานได้ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป สมองของคุณเริ่มติดกัญชา เพื่อทำให้เกิดการผ่อนคลายหรือนอนหลับที่ดีขึ้น และคุณอาจรู้สึกว่า คุณจะไม่สามารถนอนหลับได้หากไม่ใช้กัญชา แม้ว่าคุณจะเหน็ดเหนื่อยมากแค่ไหนก็ตาม
การพึ่งพากัญชี้นี้อาจกลายเป็นปัญหาได้ และการเลิกกัญชาอย่างกะทันหันก็อาจทำให้เกิดอาการถอนได้เช่นกัน ซึ่งอาการจะคล้าย ๆ กับนักดื่มกาแฟที่ขาดกาแฟในตอนเช้า
หากขาดกัญชา คุณอาจรู้สึกวิตกกังวล, นอนไม่หลับ หรือรู้สึกเหนื่อยระหว่างวันเป็นอย่างมาก อาการถอนกัญชาทำให้การหยุดใช้กัญชาเป็นเรื่องยาก แม้ว่าคุณจะต้องการทำมันมากเท่าไหร่ก็ตาม
การเสพติดไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการควบคุมจิตใจตัวเองเท่านั้น แต่เป็นภาวะที่สมองของคุณคุ้นเคยกับกัญชามากเกินไป และการพยายามเลิกโดยไม่รู้แนวทาง อาจเป็นเรื่องที่ยากและเป็นอันตรายได้
วิธีเลี่ยงปัญหาการนอนหลับจากการใช้กัญชามากเกินไป
เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว ลองพิจารณากลยุทธ์ต่อไปนี้เพื่อแก้ไขปัญหาการนอนหลับ ได้แก่:
- ใช้อย่างมีสติ : กำหนดปริมาณการใช้อย่างพอเหมาะ, ใช้ในปริมาณที่แนะนำ, หลีกเลี่ยงการใช้เป็นประจำ และใช้เมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยป้องกันการเสพติดได้
- ปรึกษาแพทย์ : ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยติดตามการใช้กัญชา และผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของคุณได้ แพทย์สามารถให้คำแนะนำส่วนบุคคล ตามความต้องการและสถานการณ์โดยเฉพาะ
- สร้างนิสัยการนอนหลับที่ดี : พยายามนอนหลับตามตารางที่กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอ, ทำให้ห้องนอนเงียบและมืดสนิทในเวลากลางคืน นอกจากนี้ อย่าดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังก่อนนอน ส่วนการออกกำลังกายทุกวันก็ช่วยได้เช่นกัน เพราะจะทำให้นอนหลับได้ดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องใช้กัญชามากเกินไป
- รักษาด้วยวิธีจิตบำบัด (CBT) : การรักษานี้สามารถช่วยปรับเปลี่ยนนิสัยในการนอนหลับที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงจัดการกับทัศนคติเชิงลบ และความกลัวเกี่ยวกับการนอนหลับได้ ซึ่งการบำบัดที่ว่านี้มักถูกใช้เป็นแนวทางแรกในการรักษาโรคนอนไม่หลับ
- ผ่อนคลายด้วยวิธีอื่น ๆ : ลองหาวิธีอื่น ๆ เพื่อแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ เช่น การทำสมาธิ, ฝึกโยคะ และการออกกำลังกายเพื่อการผ่อนคลาย สิ่งเหล่านี้สามารถปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ โดยไม่มีผลกระทบด้านลบได้
- เลือกสายพันธุ์กัญชาอย่างระมัดระวัง : กัญชาแต่ละสายพันธุ์มีผลต่อการนอนหลับที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปแล้วสายพันธุ์ที่มี CBD สูงและมี THC ต่ำมักจะให้ผลต่อการนอนหลับที่ดีกว่า
เราอยากจะย้ำกันอีกครั้งว่า การใช้กัญชาเพื่อการนอนหลับในระยะยาว ควรได้รับการดูแลภายใต้คำแนะนำของแพทย์ และควรให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตที่สมดุล ซึ่งสนับสนุนสุขภาพการนอนหลับที่ดี
ประโยชน์ของกัญชาเพื่อการนอนหลับ
แม้ว่าการเข้าใจความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้กัญชาจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ควรสังเกตด้วยว่า การใช้พืชสมุนไพรอย่างมีความรับผิดชอบ สามารถสร้างประโยชน์ต่อการนอนหลับของเราได้อย่างไรบ้าง ไปดูกัน:
- บรรเทาอาการปวดเรื้อรัง : กัญชามีสาร Cannabinoid ที่สามารถช่วยลดอาการปวดได้ และการบรรเทาอาการนี้มีส่วนช่วยให้ผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังนอนหลับได้ง่ายขึ้น
- ลดความวิตกกังวล : เป็นที่รู้กันดีว่ากัญชาบางสายพันธุ์ที่มีสาร Cannabidiol (CBD) สูง จะช่วยลดวิตกกังวล และทำให้นอนหลับได้ดีมากขึ้น
- จัดการกับอาการ PTSD : มีการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) ซึ่งอาจช่วยจัดการกับฝันร้ายได้
- ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นในผู้ที่มีความผิดปกติในการนอน : งานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่า กัญชาสามารถรักษาความผิดปกติของการนอนหลับบางอย่าง เช่น อาการนอนไม่หลับ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจช่วยให้หลับได้เร็วและนานขึ้น
แน่นอนว่าผลกระทบเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน และขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณและความรุนแรงของปัญหา ทั้งนี้ ประโยชน์จากกัญชาจะเห็นได้ชัดมากขึ้น หากใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
บทสรุป
เมื่อใช้กัญชาอย่างมีความรับผิดชอบ จะก่อให้เกิดประโยชน์ได้มากมาย เช่น ช่วยแก้ปัญหาการนอนหลับ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ก็คือ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บ่อย ๆ ทำให้อาจต้องการกัญชาในปริมาณที่มากขึ้น หรือเกิดความรู้สึกกระสับกระส่ายเมื่อขาดกัญชา และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการนอนหลับโดยรวมได้
มาถึงตรงนี้เราอยากให้ตระหนักไว้ว่า ผลของกัญชาในแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ดังนั้น จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ กัญชาสามารถสร้างประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ และจัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับได้ อย่างไรก็ตาม การใช้กัญชาควรเริ่มต้นจากการปรึกษาแพทย์ เพื่อเตรียมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด
กัญชาทางการแพทย์สามารถเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางองค์รวมในการปรับปรุงการนอนหลับและสุขภาพโดยรวมได้เมื่อใช้อย่างมีสติ