กัญชากับยา: ทำไมการใช้กัญชาร่วมกับยาตัวอื่นจึงเป็นสิ่งที่อันตราย?
Table of Contents
เนื่องจากกัญชาทางการแพทย์เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย ใครหลายคนเริ่มใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคที่ตัวเองเป็น การศึกษาล่าสุดพบว่าคนไทยจำนวน 40% ใช้กัญชาเพื่อเหตุผลทางการแพทย์
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่ากัญชามีโอกาสเกิดปฏิสัมพันธ์กับยาอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อคุณได้ แม้ว่ากัญชาอาจเป็นวิธีการรักษาตามธรรมชาติแบบองค์รวม แต่คุณควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
ในตอนนี้ยังไม่มีสิ่งที่ต้องกังวลหากคุณใช้กัญชาเพื่ออาการปวดหรือการนอนหลับ อย่างไรก็ตาม หากคุณผสมกัญชาเข้ากับ ibuprofen หรือยาตัวอื่น ร่างกายของคุณอาจตอบสนองในทางที่ไม่ดี
สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชาร่วมกับยาตัวอื่นคือ หากคุณต้องการใช้กัญชาร่วมกับยาสำหรับดูแลสุขภาพ ทาง Weed Review ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อน
อธิบายปฏิกิริยาของกัญชาต่อตัวยาแบบเข้าใจง่าย
ปฏิกิริยาระหว่างยาเกิดขึ้นเมื่อคุณใช้ยาสองตัวที่ทำงานขัดกัน ซึ่งเหตุการณ์นี้มีโอกาสส่งผลเสียต่อร่างกายของคุณมากกว่าผลดี
กัญชามีโอกาสเกิดปฏิกิริยากับยาหลายตัวและอาจนำไปสู่ปัญหามากมาย THC (tetrahydrocannabinol) สามารถมีปฏิกิริยากับยาเกือบ 400 ชนิด ในขณะที่ CBD (cannabidiol) มีปฏิกิริยากับยามากกว่า 500 ชนิด
และปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหานี้ก็คือ ตับ
เอนไซม์ในตับที่อยู่ในกลุ่มไซโตโครม P450 (CYP) และกลุ่ม UDP-glucuronosyltransferases (UGT) มีหน้าที่รับผิดชอบในการเผาผลาญและกำจัดยาและกัญชาที่ร่างกายรับเข้าไปในปริมาณมากกว่า 70% ของทั้งหมด นั่นหมายความว่ากัญชากับยาตัวอื่นต้องแย่งกันเพื่อให้ตับนำไปย่อยสลาย
เมื่อใช้กัญชากับยาร่วมกัน มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ดังต่อไปนี้:
- สารประกอบกัญชา (THC & CBD) อาจยับยั้ง/ป้องกันไม่ให้ยาเผาผลาญ ส่งผลให้ความเข้มข้นของยาในร่างกายมากขึ้น นำไปสู่การเกิดผลที่แรงขึ้นหรืออาจเกิดผลข้างเคียง
- กัญชาอาจชักนำ/ส่งเสริมให้เกิดการเผาผลาญของตัวยา ทำให้ความเข้มข้นของตัวยาในร่างกายลดลง นำไปสู่การลดประสิทธิภาพ/ป้องกันไม่ให้ยาออกฤทธิ์
- ในบางกรณี ความเข้มข้นของสารเคมีในกัญชาอาจเพิ่มขึ้นในร่างกาย
การมีปฏิกิริยาของกัญชากับยาทั่วไป
หากคุณเป็นคนที่สูบกัญชาเพื่อความบันเทิงในวันหยุดหรือที่ปาร์ตี้เฉยๆ ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องนี้
ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้งานกัญชาอย่างต่อเนื่องกับยาที่แพทย์จ่ายให้ เมื่อร่างกายเผาผลาญกัญชาอยู่ อาจทำให้เกิดการรบกวนการทำงานของตัวยาที่ทานอยู่แล้ว
อาการที่เกิดขึ้นอาจขึ้นอยู่กับวิธีการบริโภคกัญชาด้วย เช่น การสูบควัน การสูบไอ น้ำมัน หรืออาหารผสมกัญชา สิ่งใดก็ตามที่คุณบริโภคทางปากจะเข้าสู่ร่างกายของคุณได้มากที่สุด ทำให้มีโอกาสเกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงมากขึ้น
ในกรณีดังกล่าว เราขอแนะนำให้คุณงดใช้กัญชา
หรืออาจปรึกษาแพทย์เพื่อปรับปริมาณยาให้ร่างกายสามารถรับทั้งสองอย่างได้ แต่คุณจะต้องซื่อสัตย์และเล่าพฤติกรรมการใช้กัญชาโดยไม่ปิดบัง
สิ่งสำคัญคือการใช้กัญชาอย่างชาญฉลาดเพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่ดี และเราไม่แนะนำให้กำหนดปริมาณยาที่แพทย์จ่ายให้ด้วยตนเอง
ยาแก้ปวดตามร้านขายยา
ยาแก้ปวดที่มีขายตามร้านขายยาอย่าง ibuprofen อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความเสียหายต่อตับเมื่อใช้ร่วมกับกัญชาเป็นประจำ
อาจมีสาเหตุมาจากการที่สาร THC และ CBD ทำให้การเผาผลาญยาช้าลง ส่งผลให้มียาเข้าสู่ร่างกายคุณมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตับและอาจทำให้สารพิษในร่างกายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ยาคลายกังวล/benzodiazepines
Benzodiazepines คือยาที่แพทย์จ่ายเพื่อรักษาความวิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ และโรคอื่นๆ ยากลุ่มนี้เป็นยาระงับประสาท ซึ่งจะทำให้การทำงานของร่างกายและสมองช้าลง ตัวอย่างที่พบบ่อย ได้แก่ Alprazolam, Lorazepam, Clonazepam, Diazepam และ Temazepam
เนื่องจากกัญชาทำหน้าที่เป็นยาระงับประสาทที่ทำให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานช้าลงเช่นกัน การใช้กัญชาร่วมกับ benzos อาจทำให้ผลในการระงับประสาทเพิ่มขึ้น (อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง เซื่องซึมมากขึ้น) โดยอาจทำให้คุณง่วงนอนเป็นพิเศษจนทำงานไม่ได้
นอกจากนี้ Benzos ยังเป็นยาที่ทำให้เสพติดได้ และเนื่องจากกัญชาเองก็มีคุณสมบัติในการทำให้เสพติดได้เช่นกัน เมื่อใช้สองอย่างพร้อมกันอาจทำให้คุณติดจนยับยั้งตัวเองไว้ไม่อยู่ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้การใช้กัญชาร่วมกับยากดประสาทจึงเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง
ยาต้านโรคซึมเศร้า
กัญชามีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่ามีปฏิสัมพันธ์กับยาทางจิตและยาต้านเศร้า เช่น Lexapro, Zoloft, Prozac, Celexa, Wellbutrin และ Paxil เป็นต้น ซึ่งยาเหล่านี้คือสิ่งที่แพทย์จ่ายให้สำหรับภาวะซึมเศร้า
การใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับกัญชาอาจทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้:
- วิตกกังวลมากขึ้น สับสน และเห็นภาพหลอน
- ยาทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดผลข้างเคียง
- อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น
- ระดับเซโรโทนินในสมองเพิ่มขึ้นเนื่องจากยาต้านเศร้าและกัญชาปล่อยเซโรโทนินในสมอง การมีเซโรโทนินมากเกินไปอาจทำให้เกิดเซโรโทนินซินโดรม ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่ทำให้สับสน มึนงง กระสับกระส่าย และกระวนกระวายใจ
ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่าง Warfarin ใช้เพื่อรักษาและป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดอุดตัน กัญชาสามารถยับยั้งการเผาผลาญของยาต้านการแข็งตัวของเลือดในร่างกาย ส่งผลให้มีตัวยามากขึ้นและออกฤทธิ์แรงขึ้นจนอาจทำให้เลือดออกมากผิดปกติ
เพื่อให้เกิดความปลอดภัย โปรดอย่าสูบกัญชาขณะที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
สิ่งที่ควรทราบ
สรุปคือ หากคุณใช้กัญชาเป็นประจำพร้อมกับยาที่แพทย์จ่ายให้ คุณควรปรึกษาแพทย์ในทันที กัญชาอาจรบกวนการย่อยยาของร่างกาย ซึ่งอาจหยุดไม่ให้ยาทำงานหรืออาจทำให้ยาแรงเกินไปได้ โดยทั้งสองสถานการณ์นี้ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่อันตรายต่อร่างกาย
ในประเทศไทยมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์มากมายที่มีผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำแนะนำในการหาสมดุลระหว่างการใช้กัญชาและยา