จากความเรียบง่ายสู่ความวุ่นวาย: กัญชาส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างไร
Table of Contents
กัญชา ถูกพูดถึงมานานว่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้จิตใจของเราได้รับการผ่อนคลาย และทำให้รู้สึกไร้ความกังวล ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือรายการทีวี เรามักเห็นภาพของคนที่สูบกัญชาเคลิบเคลิ้มและล่องลอยไปกับความสุข แต่ความจริงแล้ว ผลกระทบของกัญชาที่เกิดกับจิตใจของมนุษย์ มีความซับซ้อนกว่าภาพที่เห็นนี้มาก
เรามักเห็นความเกี่ยวเนื่องระหว่างกัญชากับปัญหาทางสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด แม้ว่าบางคนอาจจะได้รับประโยชน์จากการบริโภคสิ่งนี้ แต่ในขณะที่บางคน อาจไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการมากนัก เพราะยังมีปัจจัยอีกหลายประการเข้ามาเกี่ยวข้อง
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่การค้นพบ
กัญชา มักถูกอ้างว่าเป็นพืชที่มีความซับซ้อนของโมเลกุลมากกว่าหนึ่งพันโมเลกุล ในขณะที่สมองของมนุษย์เรา ก็เป็นโครงสร้างที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในจักรวาลเช่นกัน ด้วยเหตุผลนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมผลกระทบของกัญชาต่อสมอง จึงยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้
แม้ว่าเราจะมีความรู้บางอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่กัญชาออกฤทธิ์ต่อจิตใจ และสิ่งที่กัญชาออกฤทธิ์ต่อร่างกาย แต่ก็ยังมีองค์ความรู้อีกมากมายที่ยังไม่ถูกเปิดเผย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการป่วยทางจิต ที่ต้องมีการวิเคราะห์เพิ่มเติม และจำเป็นต้องมีการศึกษาทางคลินิกในระยะยาว
ด้านล่างนี้ คือ ข้อสรุปเกี่ยวกับการค้นพบที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชา และผลต่อสภาวะทางจิตรูปแบบต่าง ๆ
ความวิตกกังวลและความเครียด
การกำจัดความวิตกกังวลและความเครียด เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักของผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ เพราะการใช้กัญชาหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาตลอดทั้งวัน สามารถช่วยเยียวยาและทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายได้ อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้มีการพิสูจน์ความจริงไว้ ดังนี้
การใช้สาร THC (ส่วนประกอบในกัญชาที่ออกฤทธิ์ทางจิต) ในปริมาณที่ต่ำจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่การใช้ในปริมาณสูงอาจเพิ่มความวิตกกังวลได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเสพกัญชาที่มากเกินไป อาจทำให้คุณวิตกกังวลมากขึ้น
ในทำนองเดียวกัน สาร CBD (ส่วนประกอบในกัญชาที่ไม่ออกฤทธิ์ทางจิตและไม่ก่อโรค) ก็ช่วยลดความวิตกกังวลได้ดี ไม่ว่าจะใช้มากหรือน้อยก็ตาม
สิ่งนี้จึงหมายความว่า หากคุณต้องการบรรเทาความวิตกกังวลหรือความเครียดด้วยกัญชา ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี CBD เท่านั้น หรือ CBD ผสม THC เพราะการใช้กัญชาในปริมาณสูง จะมีผลออกฤทธิ์ทางจิต และทำให้อาการของคุณแย่ลงได้
โรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD)
มีการศึกษาว่า กัญชามีศักยภาพในการรักษาอาการ Post-Traumatic Stress Disorder : PTSD (โรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ) ได้ดี ภาวะทางจิตที่ว่านี้เกิดขึ้นกับบุคคลที่เคยมีประสบพบเจอกับเหตุการณ์ความรุนแรง จนทำให้เกิดผลกระทบกระเทือนทางจิตใจ การศึกษาบางชิ้นสรุปไว้ว่า กัญชาอาจช่วยลดอาการของ PTSD เช่น ความวิตกกังวล, อาการฝันร้าย และอาการนอนไม่หลับได้
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ระบบ Endocannabinoid system (เอนโดแคนนาบินอยด์) ในมนุษย์ มีบทบาทในการควบคุมความเครียดและความวิตกกังวล ซึ่งกัญชาอาจกระตุ้นการทำงานของระบบนี้ เพื่อช่วยลดอาการ PTSD ได้
ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นโดยไม่ฝันร้าย หรือการปรับปรุงคุณภาพชีวิต การใช้กัญชาให้ผลตอบรับค่อนข้างดี และต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมต่อไป
ภาวะซึมเศร้า
ความสัมพันธ์ระหว่างกัญชากับภาวะซึมเศร้าค่อนข้างซับซ้อน และเราพบรายงานที่มีความขัดแย้งกันมากมาย
ตัวอย่างเช่น การศึกษาหนึ่งในผู้ทดสอบวัยผู้ใหญ่จำนวนกว่า 7,000 คน ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและมีปัญหาวิตกกังวล พบว่า การใช้กัญชาทำให้อาการที่เป็นอยู่ดีขึ้นภายใน 12 และ 18 เดือน การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงหลักฐานเมื่อใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคใน 2 เงื่อนไข โดยผลวิจัยรายงานว่า ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าจะลดลงหลังจากมีการใช้กัญชา แต่ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการวิจัยนี้
อย่างไรก็ตาม กัญชายังไม่ใช่ยาต้านอาการซึมเศร้า เพราะมีอีกหลายสิ่งที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับกัญชาเป็นประจำ ว่าสามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยบางรายได้หรือไม่ ผู้ใช้กัญชาจำนวนมากที่เคยใช้กัญชามาก่อน อาจมีอาการซึมเศร้าในภายหลัง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายปัจจัย
ในทำนองเดียวกัน มีหลักฐานมากมายที่ชี้ให้เห็นผลในทางตรงกันข้าม เพราะภาวะซึมเศร้าอาจทำให้มีการใช้กัญชาอย่างบ่อยครั้ง และนำไปสู่การติดกัญชาในที่สุด
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ใช่ผู้ใช้กัญชาทุกคนจะเป็นโรคซึมเศร้า และไม่ใช่ทุกคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะต้องใช้กัญชา
โรคจิตเภท
ความเชื่อมโยงระหว่างการใช้กัญชากับโรคจิตเภทนั้นเป็นสิ่งที่ซับซ้อน และอาจยังไม่เข้าใจอย่างสมบูรณ์นัก
การใช้กัญชามีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดโรคจิต เช่น โรคจิตเภท แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นหลายประการ
ตัวอย่างเช่น การรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัย 83 ชิ้น ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2550 พบว่า การใช้กัญชาทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสองเท่าสำหรับการเกิดโรคทางจิตเภท เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้กัญชา และความเสี่ยงก็มีมากขึ้นเมื่อใช้กัญชาบ่อย หรือใช้ในคนที่มีอายุน้อย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเชื่อมโยงถึง ‘เหตุและผล’ ระหว่างกัญชากับโรคจิตเภท
การใช้กัญชายังอาจนำไปสู่อาการทางจิตในระยะสั้น เช่น เห็นภาพหลอน และมีอาการหวาดระแวง ซึ่งอาจจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยด่วน การศึกษาในผู้ใช้กัญชาพบว่า สามารถพบอาการเช่นนี้ได้ประมาณ 1 ใน 200 คน
เช่นเดียวกับโรคซึมเศร้า ไม่ใช่ทุกคนที่ใช้กัญชาจะมีอาการวิกลจริตหรือโรคจิต เพราะปัจจัยส่วนบุคคล เช่น พันธุกรรม, อายุ, ความทนทานต่อกัญชา และองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม ก็มีบทบาทเช่นกัน ซึ่งผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตหรือมีอาการดังกล่าว อาจมีแนวโน้มเป็นโรคจิตเนื่องจากกัญชาได้
ดังนั้น Weed Review ขอแนะนำให้บุคคลที่มีประวัติโรคจิตเภทหรือประวัติคนในครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคจิต หลีกเลี่ยงการใช้กัญชาทุกกรณี
กัญชาและความผิดปกติทางจิต: สิ่งที่ควรรู้
ในขณะที่หลายคนสูบกัญชาเพื่อต้องการความสงบทางอารมณ์และผ่อนคลายความเครียด วิทยาศาสตร์แสดงให้เราเห็นว่า สิ่งที่ตั้งใจไว้อาจไม่เป็นอย่างที่เราคิด
กัญชาอาจช่วยคุณได้ในบางกรณี แต่ในบางกรณีก็อาจไม่ได้ผล จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบของกัญชาต่อสุขภาพจิตต่อไป
ในระหว่างนี้ ยังคงต้องคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
มีโอกาสติดกัญชาสูง
กัญชาทำให้เสพติดได้ บางคนอาจพึ่งพามัน เพื่อรับมือกับความเครียดหรือความท้าทายทางจิตใจ การใช้ในรูปแบบนี้จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติ โดยผู้ใช้อาจมีปัญหาไม่สามารถเลิกหรือลดการใช้กัญชาได้ ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง
การเสพติดอาจนำไปสู่ปัญหาการนอนหลับและเกิดผลข้างเคียงระยะยาว ที่ทำให้อาการแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป นอกจากนี้ หากพวกเขาหยุดใช้กัญชาเมื่อไหร่ อาจมีอาการถอนยาตามมาได้
ผลการรักษาขึ้นอยู่กับขนาดของยา
กัญชาที่มีความเข้มข้นของสาร THC สูง สามารถส่งผลกระทบทางจิตอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตใจได้รับผลร้ายจากสิ่งนี้ ด้วยเหตุนี้ กัญชาที่มีความเข้มข้นของสารสกัด THC จากช่อดอกในปริมาณสูง อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการเสพเพื่อผ่อนคลาย
อย่างที่คุณทราบไปแล้ว ผลกระทบทั่วไปของกัญชาจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น, เกิดความวิตกกังวล, มีความหวาดระแวง หรือจิตใจล่องลอย ซึ่งอาการที่ว่านี้จะคงอยู่ประมาณ 10-15 นาทีหลังสูบกัญชา แต่ถ้าเป็นช่อดอกที่มีฤทธิ์กัญชาสูงมาก ก็จะออกฤทธิ์ได้นานกว่านั้น ซึ่งประสบการณ์นี้อาจไม่เป็นที่พอใจสำหรับหลาย ๆ คน
เช่นเดียวกับปริมาณกัญชาที่ใช้ การบริโภคกัญชาที่มากเกินไปก็ไม่ดีเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะไม่เพียงแค่เพิ่มความทนทานต่อฤทธิ์กัญชาให้มากขึ้นเท่านั้น (ทำให้ลดผลกระทบของกัญชาในร่างกายของคุณ) แต่ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการรับรู้อีกด้วย
ผลกระทบระยะยาวยังไม่ชัดเจน
ผลกระทบระยะยาวของการใช้กัญชายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน งานวิจัยบางชิ้นระบุว่า การใช้กัญชาอย่างหนักในระยะยาว อาจส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญา และส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้เสพวัยรุ่น
การศึกษาอื่น ๆ พบว่า ยังไม่มีผลกระทบระยะยาวต่อการทำงานของสมองหรือสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ผลกระทบของการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีความเข้มข้นสูง เช่น สารสกัดเข้มข้น ก็ยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด และอาจมีความเสี่ยงมากกว่า
ความทนทานและความไวต่อฤทธิ์กัญชาเป็นสิ่งสำคัญ
บางคนอาจจะทนทานต่อฤทธิ์ของกัญชาได้ดีกว่าคนอื่น ๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กัญชาอาจใช้ไม่ได้กับทุกคน ผลกระทบจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับรูปแบบของกัญชา, ปริมาณ และความรุนแรงของกัญชา
ความไวต่อผลกระทบของกัญชาก็แตกต่างกันไปเช่นกัน โดยบางคนอาจมีอาการรุนแรง เช่น วิตกกังวลหรือหวาดระแวงมากกว่าคนอื่น ๆ ปัจจัยเหล่านี้อาจใช้กำหนดอิทธิพลว่า การใช้กัญชามีประโยชน์หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตของแต่ละคนกันแน่
พันธุกรรมและปัจจัยเสี่ยง
พันธุกรรม อาจมีบทบาทที่มีผลให้กัญชาออกฤทธิ์ต่อสุขภาพจิตเช่นกัน ตัวอย่างเช่น บุคคลบางคนอาจมีพันธุกรรมที่ทำให้พวกเขาไวต่อผลกระทบที่เป็นอันตรายของกัญชา เช่น มีความเสี่ยงในการเกิดโรคจิตเพิ่มขึ้น และยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีก เช่น ประวัติอาการป่วยทางจิต หรือประวัติการบาดเจ็บอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มผลลัพธ์เชิงลบต่อสุขภาพจิตจากการใช้กัญชาได้
ปฏิกิริยาระหว่างยา
การใช้กัญชาอาจมีผลต่อยาอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ด้านลบต่อสุขภาพจิตเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การใช้กัญชากับแอลกอฮอล์หรือยาตามใบสั่งแพทย์ อาจมีผลกระทบให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด หรือการกดการหายใจ บุคคลที่ต้องการใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ จึงควรตระหนักถึงปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้น และปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน
บทสรุป
แม้ว่ากัญชาอาจช่วยบรรเทาอาการป่วยได้ชั่วคราว แต่ก็ไม่สามารถทดแทนการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตได้ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตจึงควรขอความช่วยเหลือจากนักบำบัดหรือแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง และแนะนำทางเลือกการรักษาที่เหมาะสมได้
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ควรทราบ ก็คือ ไม่ควรมองว่าการใช้กัญชาเป็นวิธีแก้ปัญหาทางสุขภาพจิต และไม่ควรใช้สิ่งนี้ทดแทนการรักษาทางการแพทย์
ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบที่ซับซ้อนของกัญชายังไม่ได้ถูกศึกษาจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ การใช้กัญชาโดยเฉพาะสาร THC มีความเสี่ยงต่อการเสพติด, ความบกพร่องทางสติปัญญา และผลด้านลบต่อสุขภาพจิต หากมีการใช้งานอย่างหนักหรือใช้ในระยะยาว รวมถึงกลุ่มเสี่ยงที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม CBD ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยและไม่มีความเสี่ยงในการเสพติด หากคุณสนใจที่จะทราบว่า น้ำมัน CBD สามารถช่วยคุณได้อย่างไร สามารถอ่านรีวิวน้ำมัน CBD ในไทยโดยละเอียด เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมได้เลย
ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ สิ่งสำคัญก็คือ ต้องใช้กัญชาด้วยความระมัดระวัง และปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการรักษาโรคอย่างที่ต้องการ