กัญชากับความฝัน: ผลกระทบต่อการนอนหลับช่วง REM, แนวทางการรักษา และความฝันที่เต็มไปด้วยความกังวล
Table of Contents
ความฝันทำให้เรามองเห็นส่วนลึกของจิตใจ โดยเราจะช่วยรวบรวมสิ่งที่นักวิจัยและผู้ที่ชื่นชอบกัญชาต้องการทราบว่าสิ่งนี้มีผลกระทบต่อความฝันอย่างไร
ในขณะที่หลายคนใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อการนอนหลับ พวกเขาอาจสังเกตเห็นความแตกต่างของรูปแบบความฝันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน
กัญชาดูเหมือนจะช่วยลดความฝัน และการหยุดใช้มันจะทำให้ความฝันกลับมาอีกครั้ง
บทความนี้เราจะเจาะลึกถึงความเชื่อมโยงระหว่างกัญชากับความฝัน โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อรูปแบบของความฝัน รวมถึงการตอบคำถามทั่วไป เช่น ทำไมเราถึงหยุดฝันเมื่อใช้กัญชา และสำรวจความเป็นไปได้ที่จะใช้เพื่อการรักษาโรค ไปติดตามกัน
วงจรการนอนหลับและการฝัน: สาเหตุที่ทำให้เรานอนหลับฝัน
นักจิตวิทยาชื่อดังที่ชื่อว่า Carl Jung ได้นำเสนอความคิดที่ว่า ความฝันทำหน้าที่เป็นเหมือนประตูที่เปิดสู่จิตใต้สำนึก สิ่งนี้ทำให้ผู้คนสามารถสำรวจและประมวลผลความคิด, อารมณ์ และประสบการณ์ที่ซ่อนเร้นหรือถูกเก็บเอาไว้ในช่วงเวลาตื่น ตามที่ Jung กล่าวไว้ ความฝันจะสะท้อนให้รับรู้ถึงความปรารถนาที่ลึกสุดในจิตใจ, ความกลัว และความขัดแย้งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับจิตใจของเราทั้งสิ้น
ความลับของวิทยาศาสตร์แห่งความฝัน ยังคงทำให้นักวิจัยอยากศึกษาเรื่องนี้อยู่เสมอ
ระหว่างการนอนหลับ สมองของคุณจะยังคงทำงานในส่วนของระบบประสาท, การประมวลผล และรวบรวมข้อมูลประจำวันเข้าไว้ด้วยกัน การที่เราฝันจึงเป็นเหมือนผลลัพธ์และความเข้าใจในประสบการณ์, อารมณ์ และความทรงจำ นอกจากนี้ ความฝันยังช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์, การแก้ปัญหา และการสำรวจจิตใต้สำนึกของเราได้อีกด้วย
วงจรการนอนและระดับการนอน
การนอนหลับประกอบด้วยระดับต่าง ๆ ที่ทำซ้ำเป็นวงจรตลอดทั้งคืน
วงจรการนอนหลับประกอบด้วย 4 ระดับ : N1 (เริ่มหลับ), N2 (เคลิ้มหลับ), N3 (หลับลึก) และการหลับ REM (Rapid Eye Movement Sleep : ช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของตาไปมา) แต่ละระดับจะมีจุดประสงค์เฉพาะ ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพและการรับรู้ของร่างกาย
ระยะ N1: เริ่มหลับ
เป็นช่วงเปลี่ยนจากการตื่นเป็นการนอนหลับในระยะเริ่มต้น โดยระยะ N1 จะเริ่มมีอาการง่วงนอน, กล้ามเนื้อคลายตัว และเคลื่อนไหวช้าลง ซึ่งความฝันในระยะนี้มักจะหายวับไปในทันที และจำไม่ได้ว่าฝันอะไรไป
ระยะ N2: เคลิ้มหลับ
ระยะเวลาการนอนหลับโดยส่วนใหญ่ของคนเรามักเกิดขึ้นในระยะ N2 ในช่วงนี้การทำงานของสมองจะช้าลง, อุณหภูมิร่างกายลดลง, อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจเป็นปกติ ความฝันในการนอนหลับระยะ N2 ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ยังคงจดจำได้ไม่มากเท่าไหร่
ระยะ N3: หลับลึก
ระยะ N3 เป็นช่วงการนอนหลับที่ลึกที่สุด และร่างกายได้รับการฟื้นฟูมากที่สุด มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ความฝันในระยะนี้มักจะเลือนราง
ระยะ N4: การหลับ REM (ช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของตาไปมา)
ช่วงนี้จะมีการเคลื่อนไหวของดวงตาไปมาอย่างรวดเร็ว, สมองตื่นตัวมากขึ้น และความฝันต่าง ๆ มักจะเกิดขึ้นในช่วงการนอนหลับระยะ REM นี้
ระยะการนอนหลับ REM และความฝัน
สมองของคุณจะตื่นตัวมากที่สุดในช่วงการนอนหลับระยะ REM และจะกระตุ้นให้เกิดการจัดเก็บข้อมูลและประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน กล้ามเนื้อของคุณในช่วงนี้อาจจะขยับตัวไม่ได้ชั่วคราว เพื่อป้องกันการตอบสนองทางร่างกาย และช่วงการเปลี่ยนแปลงนี้เอง ถือว่ามีความสำคัญต่อประสบการณ์ความฝันที่น่าจดจำ
การวิจัยชี้ให้เห็นว่า การนอนหลับช่วง REM มีบทบาทสำคัญในการทำงานของระบบการรับรู้ต่าง ๆ โดยสมองจะถูกจัดระเบียบ และเสริมสร้างความทรงจำที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้เราจัดการกับความรู้สึกและอารมณ์ที่ดีต่อสุขภาพได้อีกด้วย
ประโยชน์
ประสบการณ์ที่เข้มข้น, โครงเรื่องที่ซับซ้อน และความรู้สึกผูกพันทางอารมณ์ที่เพิ่มมากขึ้น มักเป็นลักษณะของความฝันในการนอนหลับระดับนี้ การทำงานของสมองในช่วง REM sleep ช่วยให้:
- เกิดการประมวลผลและการรวบรวมหน่วยความจำ
- เข้าใจความซับซ้อนและความขัดแย้งของอารมณ์
- ช่วยรวบรวมความทรงจำ และจัดระเบียบข้อมูล
- สำรวจจิตใต้สำนึกในทางสร้างสรรค์
- เพิ่มความสามารถในการแก้ไขปัญหา
ผลกระทบของกัญชาต่อการนอนหลับช่วง REM กับความฝันที่หายไป
การศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า กัญชาสามารถลดการนอนหลับในช่วง REM ได้
ทั้งนี้ ยังมีความเชื่ออีกว่าสาร THC เข้ามามีบทบาทสำคัญในผลกระทบดังกล่าว เพราะเมื่อมี THC อยู่ในร่างกาย มันจะทำปฏิกิริยากับระบบ Endocannabinoid และเปลี่ยนแปลงการทำงานของสารสื่อประสาท ซึ่งส่งผลให้ระยะเวลาและช่วงการนอนหลับ REM ลดลง
การนอนหลับในระยะ REM ที่ลดลง จะทำให้ความถี่และความชัดเจนของความฝันลดลงด้วย ความสัมพันธ์นี้ถูกพบในการศึกษาที่โด่งดัง ซึ่งจัดทำโดย Pivik et al ในปี 1972 ที่สนับสนุนข้อมูลการใช้กัญชา เพื่อยับยั้งการนอนหลับช่วง REM
นี่จึงเป็นเหตุผลที่หลายคนรายงานว่า การใช้กัญชามีผลทำให้ความฝันลดลง ทั้งนี้ประสบการณ์ในการใช้กัญชาส่วนบุคคล ก็มีผลต่อการลดลงของความฝันเช่นกัน
เพราะการตอบสนองต่อกัญชาของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกันนั่นเอง
ผลกระทบของ CBD ต่อการนอนหลับช่วง REM
ในขณะที่งานวิจัยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ผลกระทบของสาร THC แต่ก็อย่าลืมว่าสาร CBD (Cannabidiol) ก็อาจมีผลต่อการนอนหลับและความฝันที่แตกต่างกันได้เช่นกัน
CBD ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และได้รับการศึกษาถึงประโยชน์ในการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการนอนหลับ ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนถึงผลต่อความฝันเช่นเดียวกับสาร THC และจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ทั้งนี้ มีรายงานไม่มากนักที่บ่งบอกว่า CBD มีผลทำให้ความฝันลดน้อยลง
ความผิดปกติของการนอนหลับ
ผลกระทบของกัญชาต่อความฝัน บ่งบอกถึงศักยภาพในการจัดการความผิดปกติของการนอน เช่น PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder), ความผิดปกติของ REM และฝันร้ายที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก
ฝันร้าย
ฝันร้าย คือ ความฝันที่ก่อกวนจิตใจ ทำให้เกิดความกลัว, ความวิตกกังวล หรือความทุกข์อย่างรุนแรง ซึ่งมักจะรบกวนการนอนหลับตามปกติ
งานวิจัยชี้ให้เห็นว่ากัญชาอาจมีผลต่อการลดฝันร้ายโดยการยับยั้งการนอนหลับช่วง REM ดังนั้น กัญชาจึงสามารถบรรเทาปัญหาให้แก่ผู้ที่ประสบกับอาการฝันร้ายจากสภาวะต่าง ๆ รวมถึง PTSD และการนอนหลับที่ผิดปกติอื่น ๆ ได้
PTSD
Post-Traumatic Stress Disorder (โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ) เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดขึ้นจากการรับรู้เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการกระทบกระเทือนทางจิตใจ ทำให้ฝันเห็นภาพในอดีต, เกิดความคิดแทรกซ้อน, ฝันร้าย และตื่นตัวมากผิดปกติ
กัญชา ได้แสดงให้เห็นว่าช่วยจัดการอาการของ PTSD รวมถึงอาการฝันร้ายได้ การศึกษาระบุว่า กัญชาช่วยปรับวงจรการนอนหลับ และยับยั้งการนอนหลับในช่วง REM จึงอาจช่วยลดความรุนแรงของฝันร้ายในบุคคลที่มีอาการ PTSD ซึ่งมีผลทำให้คุณภาพการนอนหลับและความเป็นอยู่โดยรวมดีขึ้น
การนอนหลับที่ผิดปกติในช่วง REM
REM Behavior Disorder (RBD) เป็นภาวะการนอนหลับที่ผิดปกติที่มีลักษณะเฉพาะ นั่นคือ มีการขยับของร่างกายที่ผิดปกติระหว่างการนอนหลับ
กัญชาได้รับการสำรวจว่าเป็นทางเลือกในการรักษาและจัดการกับอาการ RBD โดยเฉพาะสาร CBD ที่อาจมีผลช่วยกดการหลับช่วง REM จึงช่วยลดโอกาสและความรุนแรงของพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับ RBD ได้
อย่างไรก็ตาม จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างการนอนหลับที่ผิดปกติในช่วง REMและกัญชาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
ความฝันที่เต็มไปด้วยความกังวลหลังเลิกกัญชา: REM Rebound
เมื่อเลิกใช้กัญชา ความฝันจะกลับมาอีกครั้ง ความฝันเหล่านี้อาจเป็นฝันดีและน่าจดจำ หรือบางครั้งอาจให้ความรู้สึกที่สมจริงยิ่งกว่าเดิม
การกลับมาของความฝันประเภทนี้ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ REM Rebound เพราะเมื่อวงจรการนอนหลับ REM ถูกรบกวนจากการใช้กัญชา สมองจะชดเชยโดยเพิ่มช่วงการนอนหลับ REM ให้มากขึ้น และเมื่อเลิกใช้กัญชา สิ่งนี้จะถูกคืนสมดุลการนอนหลับให้กลับมาเป็นดังเดิม
นั่นเป็นเหตุผลที่ผู้คนอาจรับรู้ได้ถึงความฝันที่สดใส และความฝันที่มีความสร้างสรรค์ ซึ่งพบได้บ่อยในบรรดาผู้ที่เลิกกัญชา หลังจากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
แม้ในบางครั้งความฝันเหล่านี้อาจเป็นเรื่องน่ายินดี แต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวลหรือเต็มไปด้วยฝันร้ายได้เช่นกัน
สำหรับบางคนแล้ว อาการเหล่านี้อาจคงอยู่ในช่วงการถอนกัญชา เมื่อสมองกลับมาทำงานโดยไม่มี THC ซึ่งอาจกินเวลาระหว่าง 5 ถึง 30 วันหรือมากกว่านั้น หลังจากนั้น รูปแบบการฝันก็จะกลับเป็นปกติอีกครั้ง
และสำหรับผู้ที่มักจะฝันร้ายและมีปัญหาเกี่ยวกับ PTSD ความฝันเหล่านั้นก็จะกลับมาหาคุณอีกครั้งอย่างแน่นอน
บทสรุป
ความสัมพันธ์ระหว่างกัญชากับความฝันถือเป็นหัวข้อที่ซับซ้อน ซึ่งมีปัจจัยหลายด้านเข้ามาเกี่ยวข้อง
การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า การใช้กัญชาสามารถระงับการนอนหลับในช่วง REM ทำให้ความถี่และความรุนแรงในการฝันลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อเลิกใช้กัญชา การนอนหลับช่วง REM ก็จะเพิ่มขึ้น และการกลับมาฝันอีกครั้ง
ผลกระทบของกัญชาต่อความฝันอาจช่วยผู้ที่มีอาการนอนหลับที่ผิดปกติ เช่น PTSD และฝันร้ายได้
เช่นเดียวกับหลาย ๆ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับกัญชา จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกและผลจากการรักษา ในขณะที่การศึกษากัญชาและความฝันยังคงต้องดำเนินต่อไป และเปิดโอกาสสู่แนวทางอื่น ๆ ในการจัดการกับสภาวะที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ