น้ำต้มใบกัญชา หรือชากัญชา มีประโยชน์อย่างไร ดื่มตอนไหนดี
Table of Contents
‘กัญชา’ มีสรรพคุณทางยาที่ช่วยรักษาโรคได้มากมาย ซึ่งการบริโภคกัญชามีหลายวิธีด้วยกัน อาทิ การใช้น้ำมัน CBD หยดใต้ลิ้นหรือผสมกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นเมนูโปรด ขณะที่บางคนนิยมใช้กัญในรูปแบบของกัมมี่ อาหารผสมกัญชา และอีกหนึ่งวิธีที่กำลังเป็นที่นิยมไม่แพ้กันก็คือ การดื่มน้ำต้มใบกัญชา หรือชากัญชานั่นเอง
น้ำต้มใบกัญชาหรือชากัญชา สามารถต้มดื่มได้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง ดื่มได้ทั้งแบบเย็นและแบบร้อน มีหลายสูตรให้เลือกตามชอบ ว่าแต่น้ำใบกัญชาต้มมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ช่วยแก้โรคอะไรได้บ้าง รวมไปถึงคำถามที่ว่าจะดื่มชากัญชาอย่างไรถึงจะดีต่อสุขภาพ บทความนี้มีคำตอบ
สารออกฤทธิ์สำคัญในน้ำต้มใบกัญชา
ในใบกัญชาจะมีสารสำคัญอยู่ 2 ชนิด ด้วยกัน ได้แก่ THC (Tetrahydrocannabinol) เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หรือที่หลาย ๆ คนมักเรียกกันว่า “สารเมา” ส่วนสารออกฤทธิ์อีกตัวคือ CBD (Cannabidiol) เป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และไม่ทำให้เกิดการมึนเมา
ทั้งนี้ กัญชาของไทยส่วนใหญ่ มักจะมีสาร THC มากกว่า CBD โดยในใบกัญชาแห้งของสายพันธุ์ไทย จะมีปริมาณของสาร THC เฉลี่ยอยู่ที่ 1 – 2 มิลลิกรัม ต่อใบ
ขณะที่ใบกัญชาสดจะมีสาร THCA (Tetrahydrocannabinolic Acid) เป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่ถ้าหากใบกัญชาสดถูกความร้อนหรือแสงจะทำให้สาร THCA เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสาร THC ได้ ซึ่งกระบวนการนี้จะเรียกว่า ‘การ Decarboxylation กัญชา’ ซึ่งโดยปกติแล้ว THC จะละลายได้ดีในไขมัน ดังนั้น เพื่อให้ได้ประโยชน์จากชากัญชาอย่างเต็มที่ เราสามารถเลือกเติมน้ำมันมะกอก, เนย หรือน้ำมันมะพร้าวลงไปในชาได้
น้ำต้มใบกัญชาสด-แห้ง มีสรรพคุณอะไรบ้าง
หากพูดกันตามจริงแล้ว น้ำต้มใบกัญชาไม่ว่าจะเป็นใบกัญชาสดหรือกัญชาแห้ง ต่างก็มีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์กัญชาอื่น ๆ เพียงแต่น้ำต้มกัญชาหรือชากัญชาเป็นการแปรรูปให้อยู่ในรูปแบบของเครื่องดื่มที่สะดวกและง่ายต่อการบริโภค ซึ่งน้ำต้มใบกัญชาสามารถแก้โรคต่าง ๆ ได้ ดังนี้
- ช่วยคลายกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวด อาการปวดเรื้อรัง และลดการอักเสบ
- ช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย ปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับให้ดีขึ้น
- ช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ และไมเกรน
- รักษาอาการท้องร่วงได้เป็นอย่างดี
- ดับกระหาย ร่างกายรู้สึกสดชื่นขึ้น
- บรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
- เพิ่มความอยากอาหาร ทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ที่มีอาการเบื่ออาหาร
- ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
ทำไมน้ำต้มใบกัญชา (ชากัญชา) จึงดีต่อสุขภาพ
ในปี 2562 วงการแพทย์ของไทยมีงานวิจัยออกมาว่าได้ค้นพบสารกัญชาตัวหนี่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเอง สารนั้นมีชื่อว่า ‘Anandamide หรือ AEA’ กล่าวคือ เมื่อมีการจับกันระหว่างสารกัญชาในร่างกายและตัวรับสารแคนนาบินอยด์ (CB) ร่างกายจะเกิดการควบคุมระบบพลังงานอุณหภูมิ กระบวนเผาผลาญ และสารสื่อประสาทของทุกระบบในร่างกาย ทำให้เกิดความสมดุล เราก็จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไมเมื่อเวลาที่ร่างกายเราเกิดความไม่สมดุล เช่น มีปัญหาการนอนหลับ เรารับสารกัญชาเข้าสู่ร่างกาย สารกัญชานี้จะไปจับกับตัวรับในร่างกาย สารกัญชาดังกล่าวจะช่วยซ่อมแซมและปรับสมดุลให้กับร่างกาย ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น เราก็จะพักผ่อนได้เต็มที่ ร่างกายจึงกลับมาสดชื่นกระปรี้กระเปร่านั่นเอง
ดื่มน้ำต้มใบกัญชา (ชากัญชา) ในปริมาณเท่าไหร่ถึงจะปลอดภัย
แม้ว่าน้ำต้มใบกัญชาหรือชากัญชาจะเป็นวิธีการบริโภคกัญชาที่สะดวก แต่ด้วยความสะดวกนี้เองที่อาจทำให้ร่างกายเราได้รับกัญชามากเกินไปได้ในแบบที่ไม่รู้ตัว เราแนะนำว่าควรดื่มชากัญชาตามแนวทางที่ อย. กำหนดเกี่ยวกับการบริโภคชากัญชาจะปลอดภัยที่สุด โดยกำหนดปริมาณการใช้ใบกัญชาไม่เกิน 1 กรัม ต่อการบริโภค 1 ครั้ง
ทั้งนี้ การดื่มชากัญชาไม่ควรดื่มซ้ำในวันเดียวกันสำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับสารในกัญชา เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณสาร THC ที่มากเกินไป อาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ อาทิ อาการหวาดระแวง และวิตกกังวล เป็นต้น
ดื่มน้ำต้มใบกัญชา (ชากัญชา) ตอนไหนดี
การดื่มน้ำต้มกัญชา เพื่อให้ได้ประโยชน์เต็มที่และดีต่อสุขภาพ ควรดื่มในช่วงเช้า เนื่องจากร่างกายต้องการความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และเติมพลังความคิดสร้างสรรค์ดี ๆ สามารถทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ หากใครที่ชื่นชอบความหวานก็สามารถเติมสารให้ความหวานที่ชื่นชอบได้
บทสรุป
ในกัญชามีสรรพคุณทางยามากมาย ช่วยรักษาได้หลายโรค เช่น ช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย เสริมสร้างกระดูก ฯลฯ
และแม้ว่าการบริโภคกัญชาด้วยวิธีการดื่มน้ำต้มใบกัญชาหรือชากัญชาไม่ว่าจะผลิตจากใบกัญชาสดหรือใบกัญชาแห้ง ก็นับเป็นวิธีที่สะดวกในการรับสารกัญชาเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้สุขภาพที่ดี ควรดื่มด้วยความระมัดระวัง เริ่มในปริมาณที่น้อยและค่อย ๆ เพิ่ม หากจำเป็น