2 สูตรวิธีชงชากัญชายอดนิยม ประโยชน์หลากหลาย ทำได้เองที่บ้าน

Admin
Written by Review Weed Cannabis & Health Enthusiast
Updated: 2024-01-09
2 สูตรวิธีชงชากัญชายอดนิยม ประโยชน์หลากหลาย

Table of Contents

ชากัญชา’ หรือบางคนอาจเรียกว่า น้ำต้มใบกัญชา นับเป็นอีกหนึ่งกระแสที่ได้รับความนิยมและมีแนวโน้มที่มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพในรูปแบบธรรมชาติ

ซึ่งชากัญชาเป็นทางเลือกที่ดี อ่อนโยนต่อร่างกาย มีสรรพคุณที่ช่วยในการผ่อนคลาย บรรเทาความเครียด วิตกกังวล รวมถึงยังช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับให้ดีขึ้นอีกด้วย

ปัจจุบัน มีหลายหน่วยงานทั้งโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้คิดค้นสูตรรวมถึงวิธีชงชากัญชาที่ทั้งอร่อยและได้ประโยชน์ออกมามากมาย ซึ่งเราคัดมาแล้วกับ 2 สูตรเมนูชากัญชาที่ทั้งอร่อยและได้ประโยชน์มาแนะนำ นอกจากนี้ เรายังมีข้อมูลที่ผู้ที่สนใจจะหันมาดื่มชากัญชาควรรู้ มีอะไรบ้าง ไปติดตามกัน

ชากัญชา คืออะไร

ชากัญชา คือ เครื่องดื่มที่ใช้ส่วนต่าง ๆ ของต้นกัญชามาแช่ในน้ำร้อนหรือผ่านกระบวนการต้ม ใบกัญชา สามารถใช้ได้ทั้งที่เป็นแบบใบกัญชาสดและใบกัญชาแห้ง

ซึ่งการบริโภคกัญชาด้วยการดื่มชากัญชานับเป็นตัวเลือกที่ดีต่อผู้ที่รักสุขภาพ เนื่องจากหากเลือกบริโภคกัญชาด้วยอาหารผสมกัญชาหรือกัมมี่ อาจทำให้มือใหม่ในโลกกัญชารู้สึกถึงผลกระทบที่มากเกินไปได้

2 สูตร วิธีชงชากัญชายอดนิยม

ปัจจุบัน เราจะเห็นว่ามีสูตรการชงชากัญชามากมายหลายสูตร ซึ่งสูตรที่เราคัดเลือกมานี้ เป็นสูตรที่กลั่นกรองมาแล้วจากบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้นจึงมั่นใจได้ในสรรพคุณทางยาและการดูแลสุขภาพ จะมีวิธีชงอย่างไร ไปเริ่มกันเลย

สูตรการชงชากัญชา อภัยภูเบศร

สูตรการชงชากัญชา อภัยภูเบศร ชงง่าย เพียงใช้น้ำร้อน
สูตรการชงชากัญชา อภัยภูเบศร ชงง่าย ได้ประโยชน์

สูตรชากัญชานี้เป็นสูตรที่คิดขึ้นโดย ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีรายละเอียดดังนี้

วัตถุดิบ

  • ใบกัญชาสด 1 – 2 ใบ
  • น้ำอุ่น

วิธีการชงชากัญชา

  • นำใบกัญชามาคั่วไฟอ่อน ๆ 2 – 3 นาที
  • นำมาชงกับน้ำอุ่นที่เตรียมไว้
  • พักไว้ 5 นาที
  • ดื่มอุ่น ๆ ก่อนนอน

ทั้งนี้ หากดื่มชากัญชาไปแล้วประมาณ 3 วัน แต่อาการนอนไม่หลับยังไม่ดีขึ้น สามารถปรับเพิ่มครั้งละ 2 ใบ แต่สูงสุดไม่เกิน 6 ใบต่อวัน

สูตรน้ำไทยลั้นลา

สูตรการชงชากัญชา น้ำไทยลั้นลา จากอภัยภูเบศร
สูตรการชงชากัญชา น้ำไทยลั้นลา จากอภัยภูเบศร เปรี้ยวหวาน พร้อมสรรพคุณดี ๆ มากมาย

น้ำไทยลั้นลานี้ เป็นสูตรชากัญชาจากกลุ่มงานเภสัชกรรม การแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่มีเผยแพร่อยู่ในหนังสือ หนังสือ CANNABIS COOK BOOK ตำรับยิ้ม จากสูตรนี้เหมาะสำหรับเสิร์ฟ 6 แก้ว มีวัตถุดิบและวิธีการชง ดังนี้

วัตถุดิบ

  • ใบกัญชาสด 6 ใบ
  • น้ำมะนาว หรือน้ำเสาวรส หรือน้ำผลไม้อื่นที่มีรสเปรี้ยว 6 ช้อนโต๊ะ
  • ใบชาดำกลิ่นหอม 6 – 8 ช้อนชา
  • ดอกเก็กฮวย หรือชาดอกไม้อื่น ๆ ตามชอบ 6 ช้อนชา
  • ใบโรสแมรี่ 1 ช้อนชา
  • เกลือ 1 ช้อนชา
  • น้ำตาล 6 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำเปล่า 500 มล.
  • โซดา 3 ขวด หรือน้ำเปล่าสะอาด 3 ลิตร
  • น้ำแข็ง

วิธีการชงชากัญชา

  • นำน้ำเปล่า 200 มล. ใส่หม้อ ตั้งไฟความร้อนปานกลาง ใส่ดอกเก็กฮวย ใบชาดำ โรสแมรี่ลงในหม้อ หลังน้ำเดือดต้มต่ออีก 5 นาที กรองเอาเฉพาะน้ำชา
  • เติมน้ำตาลทรายลงในน้ำชาหอม ขณะที่ยังร้อน หรือนำไปตั้งไฟอีกครั้ง จนให้น้ำตาลละลายเข้ากันดี ปิดไฟ
  • นำใบกัญชาสดล้างให้สะอาด แล้วปั่นกับน้ำเปล่าที่ 200 มล. กรองเอาเฉพาะน้ำ
  • คั้นน้ำมะนาว หรือน้ำเสาวรส หรือน้ำเลมอน 6 ช้อนชา (ประมาณ 100 มล.)
  • เตรียมแก้วที่ใส่น้ำแข็งเรียบร้อยแล้ว เติมน้ำเชื่อมชาหอม 30 มล. น้ำโซดา 100 มล. และน้ำมะนาว 15 มล.
  • เทน้ำคั้นกัญชาลงบนสุด ตกแต่งด้วยใบกัญชาหรือผลไม้อื่น ๆ ตามชอบ เป็นอันเสร็จ พร้อมเสิร์ฟ

ใช้เวลาในการต้มนานแค่ไหนถึงจะดี

หลายคนที่ต้องการอยากลองหันมาดื่มชากัญชา อาจมีคำถามว่าถ้าเราไม่ได้ดื่มชากัญชาที่เป็นซอง แต่ดื่มจากการต้มใบกัญชาควรใช้ระยะเวลาในการต้มนานเท่าไหร่ถึงจะดี และได้ประโยชน์จากสารกัญชาได้อย่างเต็มที่

ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี ได้ทำการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาในการต้มชากัญชามาแล้ว พบว่า ระยะเวลาที่เหมาะสมในการต้มชากัญชาอยู่ที่ 15 นาที เพราะแม้ว่าจะต้มด้วยการใช้เวลาที่นานกว่านี้ สารในกัญชาก็ไม่ได้ออกมามากกว่าเดิม

สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาต้มชากัญชาทุก ๆ วัน ก็สามารถต้มน้ำใบกัญชาได้ โดยใช้ใบกัญชา 1 กรัม ต่อน้ำเปล่า 500 – 1,000 CC. ต้มให้เดือดเป็นเวลา 15 นาที แล้วพักไว้ 15 นาที ดื่มอุ่น ๆ ส่วนที่เหลือสามารถแช่ในตู้เย็นได้นาน 7-14 วัน แต่จะดีที่สุดหากดื่มให้หมดภายใน 5 วัน เนื่องจากภายในระยะเวลานี้ สารไฟโตแคนนาบินอยด์ยังไม่เสื่อมสภาพมากนัก ซึ่งแปลว่า เรายังคงได้ประโยชน์จากสารในกัญชาได้อยู่

ทั้งนี้ การจะดื่มชากัญชาให้ปลอดภัย ควรเริ่มในปริมาณที่ทางกรมอนามัยกำหนด และเริ่มในปริมาณน้อย ๆ พร้อมเฝ้าดูอาการภายใน 1-2 ชั่วโมง แล้วค่อยเพิ่มปริมาณทีละน้อย

ผลข้างเคียงจากชากัญชา

ผลข้างเคียงจากการดื่มชากัญชา อาจมีลักษณะที่คล้ายกับอาการข้างเคียงจากการใช้กัญชาแบบทั่วไปจากการบริโภคกัญชาด้วยวิธีอื่น ๆ อาทิ กัมมี่ อาหารผสมกัญชา และการสูบ ซึ่งอาการข้างเคียง มีดังนี้

  • ปากแห้ง
  • ตาแห้ง
  • ง่วงนอนมากกว่าปกติ
  • วิงเวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้

อาการผิดปกติที่ควรพบแพทย์ทันที

สำหรับผู้ที่ดื่มชากัญชา แล้วมีอาการดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที

  • อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หรือรัวผิดจังหวะ
  • เจ็บหน้าอก ร้าวไปที่แขน
  • เป็นลมหมดสติ
  • เหงื่อออกมาก ตัวสั่น
  • เดินเซ
  • พูดไม่ชัด
  • วิตกกังวล
  • หูแว่ว
  • เห็นภาพหลอน
  • หวาดระแวงแบบไม่สมเหตุสมผล
  • พูดคนเดียว
  • อารมณ์แปรปรวน

สารในกัญชาอยู่ในร่างกายได้นานเท่าไหร่

โดยปกติแล้วสาร CBD อยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง แต่ถ้าหากใครเติมสาร THC เข้าไปอาจทำให้สารจากกัญชาอยู่ในร่างกายได้นาน 8 – 24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณ ระบบการเผาผลาญ และความทนทานในแต่ละคนด้วยเช่นกัน

วิธีแก้เมากัญชาเบื้องต้น

การดื่มชากัญชาให้ปลอดภัยและเพื่อช่วยในการผ่อนคลาย ควรดื่มวันละ 1 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว แต่สำหรับมือใหม่บางรายอาจมีอาการเมาได้ ซึ่งเรามีแนวทางการแก้เมากัญชาเบื้องต้นมาแนะนำ ซึ่งเป็นแนวทางจากผู้ใช้จริงและวัตถุดิบที่ใช้เป็นสมุนไพรพื้นบ้านของไทยทั้งสิ้น ดังนี้

  • ขิง: สามารถเลือกดื่มเป็นชาขิงหรือน้ำขิง 1 แก้ว (250 มิลลิลิตร)
  • พริกไทย: เคี้ยวพริกไทยดำแห้ง แบบเม็ด
  • มะนาว: คั้นน้ำมะนาว ผสมเกลือเล็กน้อยจะดื่มแบบเข้มข้น หรือผสมน้ำเปล่า หรือน้ำผึ้งแล้วจิบกินก็ได้เช่นกัน หรือหากต้องการความเข้มข้นอีก สามารถหั่นมะนาวแล้วเคี้ยวกิน
  • เกลือ: อมเกลือใต้ลิ้น 1 หยิบมือ แล้วนอนพักสักระยะ

บทสรุป

กัญชามีสรรพคุณทางยามากมาย หลายคนเริ่มมีความสนใจที่จะหันมาบริโภคกัญชา แต่ด้วยความที่ไม่เคยมีประสบการณ์การใช้กัญชามาก่อน การเลือกดื่มชากัญชาจึงนับเป็นตัวเลือกยอดนิยมในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่มากขึ้น

ซึ่งสูตรวิธีการชงชากัญชาที่เรานำมาแนะนำกันในบทความนี้ เป็นสูตรที่ทั้งอร่อยและมีประโยชน์ เหมาะกับทั้งผู้ที่ต้องการรสชาติชากัญชาแบบดั้งเดิม และผู้ที่ชอบเครื่องดื่มชากัญชาแบบมีสีสัน ซึ่งไม่ว่าจะสูตรไหนก็ได้รับสรรพคุณดี ๆ ในการรักษาโรคจากกัญชาได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะเพื่อความผ่อนคลายและหลับสบาย

ประการสุดท้ายสำหรับมือใหม่ แม้ว่าการดื่มชาจะเป็นแนวทางการเริ่มต้นบริโภคกัญชาที่ดี แต่ก็ควรเริ่มจากการจิบทีละน้อยก่อน พร้อมเฝ้าดูอาการ หากมีอาการเมาหรือแพ้สารในกัญชาก็สามารถบรรเทาอาการเมาเบื้องต้นตามวิธีที่เราแนะนำได้ และไปพบแพทย์ทันที